การสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรม

เทคนิคการสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรม
  ในภาวะที่โลกกำลังไหลไปตามกระแสทางด้านวัตถุอย่างไม่หยุดนิ่ง ส่งผลให้คนเกือบทุกสังคมตกอยู่ภายใต้การครอบงำของค่านิยมทางวัตถุ ส่งผลให้มนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหาความเสื่อมทรามด้านศีลธรรม บางครั้งผู้คนในบางสังคมก็ได้รวมตัวกันออกมาเรียกร้องจริยธรรมกับผู้บริหารประเทศ เหตุการณ์ดังกล่าวได้สะท้อนถึงจุดวิกฤติบางอย่างที่กำลังเกิดขึ้นจริงในสังคม                                                ปัจจุบันทุกสถาบันการศึกษาได้ให้ความสำคัญกับการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมเข้าในกิจกรรมการเรียนการสอนในทุกรายวิชา เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ของผู้เรียนควบคู่ไปกับคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าและความสำเร็จให้แก่ชีวิตของผู้เรียน อีกทั้งยังเป็นการสร้างคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ให้แก่สังคมไทยด้วย ซึ่งจากการเข้าร่วมสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ทำห้ได้ข้อคิดที่ว่า กระบวนการสอดแทรกคุณธรรมต้องทำแบบเชื่อมโยง ตามองค์ประกอบต่อไปนี้  
           1. สถานที่และสภาพแวดล้อมในสถาบันการศึกษาเอื้อต่อการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม เช่น มีความสะอาด เป็นระเบียบ เรียบร้อย ร่มรื่น เป็นต้น   
           2. บุคคล หมายถึง ทุกคนในองค์กรที่ต้องเป็นต้นแบบทางคุณธรรม จริยธรรม และต้องช่วยกันสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมให้แก่นักศึกษา มิใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ           
           3. หลักสูตร หมายถึง ทุกรายวิชาต้องสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมเข้าไปด้วยอาจมากหรือน้อยก็ได้   ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม หมายความว่า อาจารย์ทุกท่านจะต้องทำหน้าที่สอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมเข้าไปในเนื้อหาของทุกรายวิชาที่เปิดสอน      
           4. กิจกรรม หมายถึง ทุกกิจกรรมที่เกี่ยวกับนักศึกษาที่จัดขึ้นทั้งในมหาวิทยาลัยและนอกมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะกิจกรรมในชั้นเรียน ต้องมุ่งเน้นให้เกิดความสำนึกในคุณธรรม จริยธรรม เป็นสำคัญ 
           การสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม ต้องทำให้เป็นเอกีภาพ หมายถึง ทุกหน่วยงาน บุคลากรทุกคนต้องร่วมใจกันทำ และต้องมีลักษณะเป็น อนุสาสนี หมายถึง การสอดแทรกอย่างต่อเนื่อง มิใช่ ทำ ๆ หยุด ๆ เหมือนไฟไหม้ฟาง และต้องกำหนดเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัยที่ให้ทุกคนต้องปฏิบัติตาม

วิธีการสอดแทรกคุณธรรมและจริยธรรมในรายวิชาที่สอน
                การสอดแทรกคุณธรรมและจริยธรรมให้แก่นักศึกษานั้นสามารถทำได้ในทุกรายวิชา ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับผู้สอนว่าจะใช้วิธีการใดในการสอดแทรก ซึ่งขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ที่เคยใช้มาตั้งแต่ทำหน้าที่เป็นผู้สอน ดังต่อไปนี้
                1. การให้นักศึกษาได้ค้นพบคุณธรรม จริยธรรมจากประสบการณ์ตรงจากเนื้อหาของกิจกรรมหรือตัวบุคคลต้นแบบ แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่
                                1.1 การนำนักศึกษาไปศึกษาและปฏิบัตินอกสถานที่ ซึ่งต้องกำหนดให้สอดคล้องกับรายวิชา และตั้งจุดมุ่งหมายของการสอดแทรกคุณธรรมและจริยธรรมไว้ด้วย ตัวอย่างเช่น
                                                1.1.1 การปฏิบัติธรรม เป็นกิจกรรมที่มุ่งให้นักศึกษาได้เรียนรู้การฝึกสมาธิ และสาระที่จะได้จากการฟังธรรม สนทนาธรรมกับพระวิปัสสนาจารย์ นอกจากนี้ ยังได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อวัด เช่น การทำความสะอาด การบริจาคทรัพย์ตามกำลังศรัทธา เป็นต้น
                                                1.1.2 การปลูกป่า ซึ่งทำทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย เช่น โครงการปลูกป่าชายเลนร่วมกับกองทัพเรือ เป็นการปลูกฝังให้นักศึกษาเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมที่มีต่อวัฏจักรของชีวิตอันจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักศึกษารักและหวงแหนธรรมชาติต่อไป
                                                1.1.3 การชื่นชมสุนทรียะจากงานศิลป์ ตามวัดวาอารามหรือสถานที่สำคัญ เพื่อปลูกฝังความรัก ความหวงแหนในมรดกของชาติที่เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย
                                1.2 การเชิญบุคคลต้นแบบทางคุณธรรม จริยธรรมมาให้ข้อคิดกับ     นักศึกษาในชั้นเรียน ซึ่งผู้สอนได้กำหนดถึงความเหมาะสมของบุคคลต้นแบบ โดยไม่ได้คำนึงว่า บุคคลดังกล่าวต้องเป็นคน  ที่มีชื่อเสียง โด่งดังระดับชาติ แต่เป็นใครก็ได้ที่สามารถเป็นต้นแบบทางคุณธรรม จริยธรรม โดยยึดหลักการที่ว่า แบบที่ดี เป็นสื่อการสอนที่วิเศษสุด
                                1.3 การศึกษาจากบุคคลตัวอย่างที่ต้องกำหนดให้หลากหลายอาชีพ เช่น แม่ค้าขายไข่ปิ้ง คนขับรถแท็กซี่ เป็นต้น เพื่อให้นักศึกษาได้ไปพูดคุยกับคนเหล่านั้น พร้อมทั้งเก็บหลักฐานและข้อมูลเพื่อนำเสนอในชั้นเรียนและส่งผู้สอนเพื่อประเมินผล กิจกรรมนี้ เน้นให้นักศึกษาค้นพบคุณธรรม จริยธรรมและวิสัยทัศน์ที่เป็นหลักแห่งการดำเนินชีวิตที่ประสบความสำเร็จ ความสุขตามจากบุคคลตัวอย่างที่ไปศึกษา
                2. การสอดแทรกโดยใช้สื่อการเรียนรู้ ผู้สอนได้ร่วมกันคัดเลือกสื่อการเรียนรู้ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับรายวิชาและสามารถสร้างจิตสำนึกหรือปลุกเร้าให้นักศึกษาได้ซึมซับคุณธรรม จริยธรรม ได้แก่สื่อของรายการคนค้นคนของบริษัททีวีบูรพา ดังรายละเอียดโดยสังเขปในหัวข้อต่อไป
                บทสรุปและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
                การสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ซึ่งกลุ่มผู้สอนไม่ได้ถือว่าเป็นเกณฑ์ตายตัว โดยผู้สอนท่านอื่น ๆ สามารถนำไปประยุกต์ให้สอดคล้องกับรายวิชาที่ใช้ประกอบการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมหรือกลุ่มของผู้เรียน โดยมีข้อเสนอแนะที่กลุ่มผู้สอนใช้ยึดเป็นหลักปฏิบัติ 3 ประการ คือ
                1. ตั้งความรัก ความปรารถนาดีต่อศิษย์ มุ่งให้เข้าได้รับประโยชน์ที่เกิดจากภูมิธรรม เครื่องนำชีวิตสู่ความสำเร็จ และได้ซึมซับคุณธรรม จริยธรรมให้มากที่สุด
                2. ต้องเสียสละและใช้ความอดทนสูงในการรับภาระอันหนักหน่วง โดยเฉพาะเรื่องการตรวจแบบกิจกรรมรายบุคคล โดยขอให้ยึดหลักปรัชญา 2 ประเด็น คือ
                                2.1 เอาผู้เรียนเป็นครู หมายความว่า การตรวจงานของนักศึกษาจะทำให้เราเรียนรู้ร่วมกับผู้เรียนด้วย ที่สำคัญเราจะได้แนวคิดใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนจากนักศึกษา บางครั้งเราอาจนึกไม่ถึงว่า โลกทัศน์ของนักศึกษานั้นช่างวิเศษจริง
                                2.2 การได้ทำหน้าที่ของครู การจัดกิจกรรมและการตรวจงานของนักศึกษายังทำให้เราได้ทำหน้าที่ของครูอีกหลายประการ เช่น ตรวจสอบแนวคิด ความผิดถูกของการเขียน คุณภาพของงาน ตลอดจนการกระทำผิดในบางเรื่อง เช่น การคัดลอกกันหรือการทำงานให้กัน เมื่อพบก็ยิ่งทำให้เราต้องทำหน้าที่ของครูในการที่จะทำในเรื่องที่ถูกต้อง เพื่อแก้ไขพฤติกรรมที่ผิดธรรมของนักศึกษา และให้เขาได้  โลกทัศน์ในการทำงานใหม่บนพื้นฐานของธรรม
                3. ใช้หลักอุเบกขา คือความเป็นกลาง ความยุติธรรมที่ต้องมีให้แก่ศิษย์ทุกคน โดยไม่เลือกที่รัก มักที่ชัง โดยยึดเกณฑ์ที่ตกลงร่วมกัน และธรรมคือความถูกต้องเป็นแบบในการปฏิบัติ
จากแนวคิดที่สรุปจากประสบการตรงในการสอนแบบสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมทั้งหมดที่กล่าวมา อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สามารถสร้างสัมฤทธิผล เรื่อง การสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมให้แก่นักศึกษาได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งกลุ่มผู้สอนของมหาวิทยาหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มิได้ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุด อย่างไรก็ขอฝากไว้ให้เพื่อนครูช่วยพิจารณา หากมีเรื่องใด หลักการใดที่ควรแก้ไข หรือมีส่วนที่จะต้องเพิ่มเติมก็ขอให้ช่วยเสนอแนะด้วย กลุ่มผู้สอนฯ ขอน้อมรับคำแนะนำทุกประการ   เพื่อนำไปพัฒนา ปรับปรุงกิจกรรมด้านนี้ให้บรรลุเป้าหมายในการผลิตบัณฑิตที่พึงประสงค์ออกไปรับใช้สังคมร่วมกัน